8.05.2008

สวยใสและไฟส่อง


เมื่อวันอาทิตย์ก่อนมีนัดถ่ายลูกค้าสองท่านน้องแพทตี้และน้องคุณที่สตูดิโอชั่วคราวในซอยทองหล่อ เป็นห้องกึ่ง loft ที่ซื้อและตกแต่งเอาไว้กะว่าจะอยู่กับแป้งสองคนตายาย พอมีดโรฑีเพิ่มเข้ามาอีกคนกลับกลายเป็นว่าห้องนี้แคบไปหน่อยเลี้ยงเด็กเล็กไม่สะดวก เลยหอบข้าวของกลับไปอยู่ที่บ้านและใช้ loft เป็นสตูดิโอไปก่อนจนกว่างานปรับปรุงบ้านและก่อสร้างสตูดิโอถาวรจะเสร็จ ข้อดีของ loft นี้คือมีหน้าต่างกระจกบานสูงยาวตลอดทั้งห้องสามารถใช้เป็น daylight studio ได้ แต่เดิมที่เลือกซื้อห้องนี้ก็เพราะชอบสภาพแสงในห้อง คิดไว้ว่าหากสักวันอยากใช้เป็นสตูดิโอถ่ายภาพก็สามารถใช้ได้เลย เลยได้ทำส่วนยกพื้นและวางตำแหน่งปลั๊กไฟเตรียมไว้ด้วย


setup คราวนี้คล้ายกับคราวที่แล้ว เพียงแต่วันนั้นแดดแรงมาก ต้องรวมเอาแสงแดดจากข้างนอกเข้ามาประกอบการคำนวณการจัดแสงด้วย ท่านผู้รู้เคยสอนไว้ว่าถึง strobe ของเราจะแรงแค่ไหน เราก็ไม่ควรพยายามไปแข่งกับแสงแดด หากมีแดดอยู่แล้วก็พยายามใช้ประโยชน์จากแสงนั้น อีกอย่างหนึ่งที่มีผลกับการจัดแสงในครั้งนี้คือกระจกหน้าต่างที่เป็น

กระจกกรองแสงอ่อนๆ แสงที่ผ่านกระจกมามีสีออกเขียว ดีที่ว่าเมื่อไปสะท้อนกับข้างฝาอีกด้านหนึ่งของห้องที่เป็น Hi-gloss สีขาวก็เลยให้แสงสะท้อนที่ออกขาวเย็นๆ ไม่ได้เขียวมาก แต่ถึงอย่างไรก็ต้องหาวิธีขจัดออกเพราะกล้วจะมีผลต่อความอิ่มของสีอื่นๆ ในภาพ


คราวที่แล้วพูดเรื่องกล้องไปเยอะ (หรือเยอะไป?) คราวนี้พูดเรื่องแสงบ้างดีกว่า ที่จริงแล้วโดยส่วนตัวผมว่าแสงนั้นสำคัญกว่าชนิดของกล้องที่ใช้เสียอีก เพราะที่จริงการถ่ายภาพนั้นก็คือการสร้างภาพด้วยแสงที่มีอยู่ หากไม่มีแสง เราก็มองไม่เห็น ไม่มีความสวยงาม และก็ไม่มีภาพถ่ายด้วย ดังนั้นแสงจึงเป็นหัวใจของภาพถ่าย กล้องเป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับบันทึกแสงที่สวยงามเหล่านั้นไว้ชั่วกาลนาน (โรแมนติกมากๆ )


strobe และอุปกรณ์ปรับสภาพแสงต่างๆ จึงสำคัญไม่แพ้กล้องหลายๆ คนที่ผมเคยพบมักบอกว่า เขาถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติ ไม่ชอบใช้แฟลช ถ้าทำอย่างนั้นได้ตลอดก็ดีครับ ถ้าแสงจะเป็นใจกับคุณในทุกครั้งที่ถ่ายภาพ แต่ในความเป็นจริงการใช้แฟลชไม่ได้ทำให้ภาพที่ออกมาไม่เป็นธรรมชาติ คนส่วนมากกลัวการใช้แฟลชเพราะเขาคุ้นเคยกับภาพถ่ายของคนคุ้นเคยที่หน้ามันแผลบ ขาวเว่อ หรือตาแดงเพราะแสงแฟลช อีกส่วนหนึ่งคือพวกที่ผ่านจุดนั้นมาได้โดยค้นพบการยิงแฟลชสะท้อนเพดานหรือข้างฝาแทนการยิงตรงๆ พวกนี้ก็จะยึดติดกับการ bounce แฟลช จะถ่ายอะไรที่ไหนเมื่อไหรก็ bounce ตลอดทำให้ได้ภาพซ้ำๆ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ 


สำหรับตัวผมเองเริ่มจะมาสนใจศึกษา

การจัดแสงอย่างจริงจังก็สมัยที่ทำงาน 3D animation เพราะการสร้างภาพในโปรแกรม 3D ต้องอาศัยความรู้เรื่องแสงอย่างลึกซึ้ง แต่เดิมสมัยเรียนอยู่ที่อเมริการู้เพียงแค่ทฤษฎีอย่างคร่าวๆ ไปไหนก็มีแฟลชแบบหลอดเปลือยติดตัวไปด้วยเพื่อใช้เป็น fill light สำหรับการถ่ายภาพกลางแจ้งเท่านั้น ไม่เคยคิดจะใช้ flash เป็นแสงหลักเพราะคิดไปว่าทำอย่างไรก็ไม่เป็นธรรมชาติเท่าแสงแดดแน่ๆ


แสงสำหรับงานถ่ายภาพเด็กของผม ผมพยายามใช้แสงที่เป็นธรรมชาติ ออกแนวสว่างสดใส แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามใช้แสงในการช่วยขับความกลมกลึงและความใสของผิวเด็กๆ ออกมาด้วย เพราะผมเห็นว่าเป็นจุดเด่นที่นำเสนอความน่ารักของเด็กๆ ในขณะเดียวกันผมจะใช้แฟลชกำลังต่ำที่สุดที่สามารถทำได้ในแต่ละ setup เพื่อไม่ให้เกิดแสงจ้ารบกวนลูกค้าผู้น่ารักของผม และ setup ทั้งหมดนั่นก็ต้องไม่เข้ามาขัดขวางการทำงานหรือสัมพันธภาพอันดีระหว่างผมกับลูกค้าด้วย


ที่จริงแล้วการถ่ายภาพโดยใช้แฟลชให้เหมือนแสงธรรมชาติไม่ใช่เรื่องยาก แสงที่ได้จากแฟลชก็เหมือนกับแสงที่เราเห็นจากหลอดไฟ มันอาจจะคล้ายแสงของหลอดใสแบบกลมกว่าหลอดอย่างอื่น เทคนิคอะไรก็ตามที่นักออกแบบภายในหรือผู้ออกแบบโคมไฟใช้ เพื่อเปลี่ยนให้แสงจ้าๆ จากหลอดไฟนั้นกลายเป็นแสงที่นุ่มนวลสบายตา ก็สามารถนำมาใช้กับแสงแฟลชได้เช่นเดียวกัน

เวลาที่เราจัดแสงเพื่อถ่ายภาพ ให้พยายามจินตนาการว่าแฟลชของเราคือหลอดไฟธรรมดาดวงหนึ่ง อย่าไปนึกว่ามันแปลกประหลาดพิศดารเพียงเพราะว่ามันสว่างแค่คราวละวาบเดียว เริ่มจากดวงเดียวก่อนหากยังไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการก็ค่อยคิดว่าจะเพิ่มอีกดวงดีไหม ตรงไหน และจะปรับสภาพแสงของมันอย่างไร (ทิศทาง ความสว่าง ความคม สี ขนาด) ความแตกต่างที่หลักๆ คงเป็นแค่การควบคุมความสว่างของแสงแฟลชที่จะปรากฏในภาพถ่ายที่แตกต่างจากการควบคุมแสงแบบที่สว่างต่อเนื่อง เราควบคุมแสงแฟลชในภาพถ่ายได้โดยใช้หน้ากล้องเป็นหลัก ความเร็วของชัตเตอร์แทบจะไม่มีผลต่อการควบคุมปริมาณของแสงแฟลชบนภาพเลย

หลายท่านอาจแย้งว่า ดนพคงจะเพี้ยน ถ้าแฟลชดวงเดียวยังทำให้แสงในภาพผิดธรรมชาติแล้วเพิ่มเข้าไปอีกหลายๆ ดวงมันไม่ยิ่งเละหรือ ไม่เละหรอกครับ ยิ่งเพิ่มยิ่งดี แต่เราต้องรู้ว่าเราเพิ่มเข้าไปเพื่ออะไร


แสงที่เราเห็นในสถานการณ์ปกติมักเกิดจากแหล่งกำเนิดหลักเพียงแหล่งเดียว เช่น แสงในห้องของเราเวลากลางวัน อาจเกิดจากแสงแดดที่ส่องผ่านหน้าต่างเข้ามาเพียงอย่างเดียวนั่นคือมีดวงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดแสง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นและเป็นสิ่งที่จะทำให้แสงในห้องดูเป็นแสงธรรมชาติ คือการที่วัตถุต่างๆ ในห้องตอบสนองต่อแสงแดดนั้น การสะท้อนของแสงจากวัตถุชิ้นหนึ่งไปยังชิ้นอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง สีของของชิ้นหนึ่งที่สะท้อนไปบนของอีกชิ้นหนึ่ง ความสว่างของแสงสะท้อนที่ต่างกันระหว่างพื้นผิวของวัตถุต่างชนิดกัน เงา ความฟุ้งหรือความเข้มของเงา รูปร่างของมัน ฯลฯ เหล่านี้ทั้งหมดรวมกันทำให้เกิดแสงที่เรารู้สึกว่าเป็นธรรมชาติ เกิดน้ำหนักของภาพที่เหมาะสม


หากเราสามารถเลียนแบบลักษณะคร่าวๆ ของสภาพแสงในห้องนี้ได้โดยใช้แฟลชหลายๆ ดวงแทนแหล่งกำเนิดแสงย่อยๆเหล่านั้น เราก็จะสามารถสร้างความรู้สึกของแสงธรรมชาติได้เช่นกันในช่วงเวลาไหนก็ได้แม้แต่ในเวลากลางคืนที่ไม่มีแสงแดด แฟลชดวงหนึ่งแทนแสงแดดจากนอกหน้าต่าง อีกดวงแทนแสงสีน้ำตาลแดงที่สะท้อนจากพื้นไม้ อีกดวงแทนแสงที่สะท้อนจากฝาผนังห้องอีกฝั่ง เป็นต้น


ลองนึกกึงภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่คุณชอบสักเรื่อง ภาพที่เราเห็นบนจออาจดูเหมือนตัวละครกำลังอยู่ในห้องที่มีแสงแดดยามเช้าอบอุ่นส่องเข้ามา แต่ที่จริงแล้วทุกอย่างเป็นเพียงสมมติ ตอนที่เขาถ่ายเขาก็ถ่ายในโรงถ่าย แสงที่เห็นเหมือนแสงแดดสะท้อนอยู่ในห้องและแสงสวยๆ ที่ตกบนหน้านางเอกก็ไม่ใช่แสงแดด แต่เป็นไฟไม่รู้กี่สิบดวงที่ห้อยอยู่บนราวเพดานในโรงถ่าย ถ้าไฟในโรงถ่ายหลอกคุณว่านางเอกสุดสวยกำลังนั่งอยู่ในห้องตอนเช้าได้ แฟลชของคุณหากวางให้ถูกตำแหน่งพร้อมอุปกรณ์ปรับแต่งแสงที่เหมาะสมก็ย่อมจะสามารถสร้างความรู้สึกอย่างเดียวกันได้


ไม่แตกต่างกันครับ แสงไฟ tungsten หรือ HMI ในโรงถ่ายที่ส่องสว่างอยู่ตลอดเทค หรือแฟลชของคุณที่สว่างคราวละ 1/2000 วินาที เพราะอย่างนี้อย่าไปกลัวแฟลชครับ ลองหัดสังเกตแสงรอบๆ ตัวเรา ชอบอย่างไหนก็ลองพิจารณาดูว่าสภาพแสงแบบนั้นมันเกิดจากองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วมาลองจำลองสภาพแสงนั้นโดยใช้ แฟลชแทน ไม่ยากหรอกครับ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีกล้องดิจิตอล ถ่ายไป ปรับไฟไป ปรับหน้ากล้องไป ดูผลลัพธ์ที่ได้บนหน้าจอไป ฟิล์มก็ไม่ต้องล้าง เดี๋ยวเดียวก็แจ่มครับ