8.08.2008

โตขึ้นฉันจะเป็น . . .


วันนี้นั่งเตรียมเนื้อหาที่จะสอนในคล้าสวันเสาร์ที่จะถึง กะจะให้เป็นคล้าสสุดท้ายแล้วปิดคอร์สไปเลยเพราะเสาร์ถัดไปผมจะไม่ว่าง ต้องบินไปพูดที่ภูเก็ต เรื่องที่เขาให้พูดจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคการประกอบภาพสำหรับงานภาพยนตร์ จะว่าเกี่ยวกับการถ่ายภาพก็เกี่ยวจะว่าไม่เกี่ยวมันก็ไม่ค่อยจะเกี่ยวกันเท่าไร


ว่าไปแล้วมานึกๆ ดูทั้งคล้าสที่สอนอยู่ ทั้งเรื่องที่เขาเชิญไปพูด ทั้งเรื่องงานถ่ายภาพ มันเป็นคนละเรื่องกันทั้งนั้น คล้าสที่สอนเป็นเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์แอนิเมชั่นในการจำลองฝูงชน (Crowd Behavior 

Simulation) ส่วนที่จะไปพูดเป็นเรื่อง Visual Effects หรือเทคนิคพิเศษในงานภาพยนตร์ เอ ทำไมชีวิตเรามันสับสนอย่างนี้หนอ ถ้าจะมองในแง่ดีก็อาจพูดได้ว่าเราคงเก่งหลายอย่าง แต่ถ้าจะดูอีกแง่หนึ่งอาจจะกลายเป็นว่าเรามันเป็นพวกจับฉ่ายเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ บางครั้งเวลาที่ได้รับเชิญไปพูดก็จะถามเขาก่อนว่าเขารู้จักเราในฐานะอะไร ช่างภาพ อาจารย์สอนวิทยาคอมฯ อาจารย์สอนวิชาประกอบภาพ ผู้กำกับแอนิเมชั่น หรืออย่างอื่น ประมาณ 'ทำไมถึงเลือกผมไปพูดล่ะครับ' หรือ 'ชอบผมที่ตรงไหน' ที่แน่ๆ คือเมื่อนึกถึงดนพเขาคงนึกถึงเทคนิควิธีการสร้างภาพชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะเป็นอะไรที่เราทำด้วยใจรักมาตลอดยี่สิบปีหลัง

ทั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาจะเล่นตัว แต่เพราะต้องการทราบความคาดหวังของผู้เชิญ จะได้พูดได้ตรงวัตถุประสงค์ของการจัดงานของเขา


สำหรับที่ภูเก็ตดูเหมือนว่าหนนี้ที่จะลงไปพูดจะเป็นครั้งที่สามหรือสี่นี่แหละเข้าใจว่าที่เขาเชิญมาอีกคงเป็นเพราะคราวที่แล้วเล่นจำอวดบนเวทีได้สนุกสนานถูกใจผู้ชม ในงาน PAF ครั้งแรกนั้นเขาจัดให้ผมพูดในโรงภาพยนตร์ในห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลภูเก็ต ไม่ทราบว่าผู้ฟังเขามาจากไหนกัน ไม่ทราบว่าตั้งใจจะมาฟังเรื่องที่ผมจะพูดในคราวนั้น บังเอิญผ่านมา หลบอากาศร้อนเข้ามา หรือว่าถูกต้อนมาจากที่ไหน แต่ในคราวนั้นผู้ฟังมากเกินความคาดหมายจริงๆ ขนาดที่นั่งในโรงภาพยนตร์ไม่พอนั่งต้องนั่งกันตามบันไดทางเดิน ทางผู้จัด SIPA ภูเก็ตเขาฉายงานของเราขึ้นจอภาพยนตร์และปล่อยเสียงเราออกทางลำโพงของโรงด้วยดูยิ่งใหญ่เกินตัวจริงๆ รู้สึกเหมือนได้เป็นดาราอยู่สามชั่วโมงเต็ม สนุกมากครับ แต่จะหวังให้มีอย่างนั้นอีกในคราวนี้คงเป็นไปได้ยาก ทั้งหัวข้อที่พูดทั้งหมายกำหนดการ แถมคราวนี้รู้สึกว่าจะให้ผมไปนั่งพูดอยู่บนเวทีในลานกิจกรรม โอกาสที่จะมีแมวมองผ่านมาเห็นคงน้อยกว่าคราวที่แล้ว


พูดถึงแมวมองกับเรื่องพูดบนเวที มีอยู่คราวหนึ่งเป็นตัวแทนประเทศไปพูดนำเสนอ Super Pitch รอบชิงชนะเลิศที่งาน Asia Media ที่สิงค์โปร์งานนั้นเป็นภาษาอังกฤษ แต่ดีทีว่าซ้อมไว้ก่อนล่วงหน้าหลายวันเลยทำได้ค่อนข้างดี ถึงตัวงานที่นำเสนอสุดท้ายแล้วจะไม่ได้รับรางวัล แต่ปรากฎว่ามี TV Producer อาวุโสชาวไทยจากค่ายดังเดินมาทัก บอกว่าน้องจ๋า กลับไปเมืองไทยเมื่อไหร่ช่วยโทรไปหาหน่อยนะ มีงานอยากให้ลองทำ ตอนนั้นมัวแต่เสียใจว่างานที่เราอุตสาห์นำเสนอไม่ได้เข้ารอบ เลยไม่ได้สนใจที่เขาพูดเท่าไร กลับมาเมืองไทยก็ลอง email ไปพร้อมกับ resume เพราะไม่แน่ใจว่าเขาอยากให้เราไปทำงานอะไร เลขาของเขาก็นัดเข้าไปคุย ปรากฎว่าเขาเห็นแววว่าน่าจะเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์รายการใหม่ของเขาได้ 


ไม่พูดพล่ามทำเพลงโยนบทมาให้ตรงหน้าปึ๊งนึง ว่าแล้วก็โทรเรียกช่างกล้องกับ Producer น้อยเข้ามาบอกว่าจะ screen test ผมสดๆ ตรงนั้น ถ้าเป็นตอนนี้ก็คงจะทำได้สบายๆ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงเครียดๆ กลัวๆ กับการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในชีวิตช่วงนั้น เลยเกิดอาการแพ้กล้องขึ้นมาทันใด ปากคอสั่นไปหมด พี่ Producer เขามองอย่างงงๆ และปลงๆ ว่านี่มันเป็นคนเดียวกับที่เราเจอที่สิงค์โปร์แน่หรือ สรุปว่าไม่ผ่านกระนั้นก็ดี เพื่อนของคุณพี่เขาอีกคนได้อ่าน resume ผมแล้วถูกใจเลยเรียกไปคุยด้วยต่อเลยรายนั้นเสนอให้ผมเป็นผู้บริหารบริษัทในเครือที่วางแผนจะเปิด ก็อีกแหละครับ สภาพจิตใจของเราตอนนั้นมันไม่ค่อยดี พอได้ยินอย่างนั้นก็เครียดขึ้นมาทันใด พออาทิตย์ต่อมาเขานัดให้ไปคุยกับนายของเขา พี่แกเล่นไม่บอกว่าจะให้คุยเรื่องอะไรและคุยกับใครบ้าง ปรากฏว่านัดที่ห้องประชุม Board พร้อมสมาชิก Board ของบริษัทนั่งกันอยู่ครบ บุคคลในตำนานสื่อบันเทิงเมืองไทยทั้งนั้น ผมไม่แน่ใจว่าผมพูดอะไรไปบ้าง รู้แต่ว่ารู้สึกเวียนหัวเหมือนจะเป็นลมตลอดการสนทนา ท่านประธานไม่ปลื้ม และสงสัยจะทำให้คนที่เขาแนะนำผมเข้าไปเสียหน้าด้วย ผมรู้สึกแย่มากๆ รู้สึกเหมือนว่าโอกาสมาอยู่ตรงหน้าขนาดนี้แล้วแล้วยังทำไม่ได้อีก

มันน่าแปลกว่าถึงเราจะไม่เคยคาดหวังว่าอย่างเราจะได้เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ หรือ MD ของบริษัทดังๆ แต่พอมีคนหยิบยื่นโอกาสมาให้แล้วเราทำพลาดไป เรากลับเสียใจได้มากมาย ทั้งๆ ที่แต่เดิมเราไม่เคยใฝ่ฝันอาชีพเหล่านั้นเลย แปลกดีครับเรื่องความคาดหวังของคนเรา


ไอ้เราก็คิดไปว่าในที่สุดเราก็จะได้ทำอาชีพอะไรที่พ่อแม่เราเขาเอาไปอวดคนอื่นได้เต็มปาก ว่าลูกฉันเป็นพิธีกร หรือลูกฉันเขาเป็นผู้จัดการบริษัทดัง ไม่ใช่งานแปลกๆ อย่างแอนิเมชั่นหรือ visual effects ซึ่งจนบัดนี้เกือบ 20 ปีผ่านไป คุณแม่ของผมยังไม่ทราบเลยว่า ผมทำงานอะไร หรืองานของผมมันเป็นอย่างไร ดูเหมือนนอกจากท่านจะไม่เข้าใจแล้ว ยังไม่ค่อยจะถูกใจท่านอีกด้วย คุณแม่ยังมาพูดให้ฟังเสมอว่า ลูกของเพื่อนคนนั้นเป็นหมอ คนนั้นเป็นอาจารย์ คนนั้นจบ PhD ตัวที่สองแล้ว เก่งๆ กันทั้งนั้นเลย พ่อแม่ของเขาคงดีใจ เราเองฟังแล้วก็เสียใจ แม่จ๋า ลูกของแม่ก็ไม่ได้เลวร้ายนะ อย่างน้อยยังมีคนเชิญไปพูด ยังได้เป็นตัวแทนประเทศ สมัยที่รับเงินเดือนอยู่ก็ได้เป็นกอบเป็นกำดี เป็นผู้บริหารก็เคยเป็นให้หลายบริษัท ทำไมแม่ถึงได้สะท้อนใจเวลาที่ได้ยินความสำเร็จของลูกคนอื่น


ที่เสียดายที่สุดคงจะเป็นโอกาสที่จะได้ทำอาชีพที่คุณแม่รู้จักและเข้าใจและเอาไปคุยกับเพื่อนๆ ได้นั่นเอง แต่ก็ไม่เป็นไรครับ ที่ดีที่สุดของการไปพูดคราวนี้คือจะได้มีดโรฑีกับแป้งไปนั่งฟังด้วย ถึงดโรฑีจะยังฟังไม่รู้เรื่อง อย่างน้อยการที่เขาอยู่ตรงนั้นก็จะเป็นกำลังใจให้ผู้พูดเป็นล้นพ้น ว่าทุกสิ่งที่เรารักอยู่กับเราตรงนี้ ทุกสิ่งที่เราต้องการ ทุกสิ่งที่มีความหมายสำหรับเรา นี่คืองานที่เรารักและเป็นงานที่เราทำเพื่อคนที่เรารัก นี่คือชีวิตของเรา ถึงจะไม่เหมือนที่เคยฝันไว้แต่ก็ใกล้เคียง หวังว่าเมื่อดโรฑีโตขึ้นคงจะไม่อายที่มีพ่อเป็นคนสร้างภาพ

8.05.2008

สวยใสและไฟส่อง


เมื่อวันอาทิตย์ก่อนมีนัดถ่ายลูกค้าสองท่านน้องแพทตี้และน้องคุณที่สตูดิโอชั่วคราวในซอยทองหล่อ เป็นห้องกึ่ง loft ที่ซื้อและตกแต่งเอาไว้กะว่าจะอยู่กับแป้งสองคนตายาย พอมีดโรฑีเพิ่มเข้ามาอีกคนกลับกลายเป็นว่าห้องนี้แคบไปหน่อยเลี้ยงเด็กเล็กไม่สะดวก เลยหอบข้าวของกลับไปอยู่ที่บ้านและใช้ loft เป็นสตูดิโอไปก่อนจนกว่างานปรับปรุงบ้านและก่อสร้างสตูดิโอถาวรจะเสร็จ ข้อดีของ loft นี้คือมีหน้าต่างกระจกบานสูงยาวตลอดทั้งห้องสามารถใช้เป็น daylight studio ได้ แต่เดิมที่เลือกซื้อห้องนี้ก็เพราะชอบสภาพแสงในห้อง คิดไว้ว่าหากสักวันอยากใช้เป็นสตูดิโอถ่ายภาพก็สามารถใช้ได้เลย เลยได้ทำส่วนยกพื้นและวางตำแหน่งปลั๊กไฟเตรียมไว้ด้วย


setup คราวนี้คล้ายกับคราวที่แล้ว เพียงแต่วันนั้นแดดแรงมาก ต้องรวมเอาแสงแดดจากข้างนอกเข้ามาประกอบการคำนวณการจัดแสงด้วย ท่านผู้รู้เคยสอนไว้ว่าถึง strobe ของเราจะแรงแค่ไหน เราก็ไม่ควรพยายามไปแข่งกับแสงแดด หากมีแดดอยู่แล้วก็พยายามใช้ประโยชน์จากแสงนั้น อีกอย่างหนึ่งที่มีผลกับการจัดแสงในครั้งนี้คือกระจกหน้าต่างที่เป็น

กระจกกรองแสงอ่อนๆ แสงที่ผ่านกระจกมามีสีออกเขียว ดีที่ว่าเมื่อไปสะท้อนกับข้างฝาอีกด้านหนึ่งของห้องที่เป็น Hi-gloss สีขาวก็เลยให้แสงสะท้อนที่ออกขาวเย็นๆ ไม่ได้เขียวมาก แต่ถึงอย่างไรก็ต้องหาวิธีขจัดออกเพราะกล้วจะมีผลต่อความอิ่มของสีอื่นๆ ในภาพ


คราวที่แล้วพูดเรื่องกล้องไปเยอะ (หรือเยอะไป?) คราวนี้พูดเรื่องแสงบ้างดีกว่า ที่จริงแล้วโดยส่วนตัวผมว่าแสงนั้นสำคัญกว่าชนิดของกล้องที่ใช้เสียอีก เพราะที่จริงการถ่ายภาพนั้นก็คือการสร้างภาพด้วยแสงที่มีอยู่ หากไม่มีแสง เราก็มองไม่เห็น ไม่มีความสวยงาม และก็ไม่มีภาพถ่ายด้วย ดังนั้นแสงจึงเป็นหัวใจของภาพถ่าย กล้องเป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับบันทึกแสงที่สวยงามเหล่านั้นไว้ชั่วกาลนาน (โรแมนติกมากๆ )


strobe และอุปกรณ์ปรับสภาพแสงต่างๆ จึงสำคัญไม่แพ้กล้องหลายๆ คนที่ผมเคยพบมักบอกว่า เขาถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติ ไม่ชอบใช้แฟลช ถ้าทำอย่างนั้นได้ตลอดก็ดีครับ ถ้าแสงจะเป็นใจกับคุณในทุกครั้งที่ถ่ายภาพ แต่ในความเป็นจริงการใช้แฟลชไม่ได้ทำให้ภาพที่ออกมาไม่เป็นธรรมชาติ คนส่วนมากกลัวการใช้แฟลชเพราะเขาคุ้นเคยกับภาพถ่ายของคนคุ้นเคยที่หน้ามันแผลบ ขาวเว่อ หรือตาแดงเพราะแสงแฟลช อีกส่วนหนึ่งคือพวกที่ผ่านจุดนั้นมาได้โดยค้นพบการยิงแฟลชสะท้อนเพดานหรือข้างฝาแทนการยิงตรงๆ พวกนี้ก็จะยึดติดกับการ bounce แฟลช จะถ่ายอะไรที่ไหนเมื่อไหรก็ bounce ตลอดทำให้ได้ภาพซ้ำๆ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ 


สำหรับตัวผมเองเริ่มจะมาสนใจศึกษา

การจัดแสงอย่างจริงจังก็สมัยที่ทำงาน 3D animation เพราะการสร้างภาพในโปรแกรม 3D ต้องอาศัยความรู้เรื่องแสงอย่างลึกซึ้ง แต่เดิมสมัยเรียนอยู่ที่อเมริการู้เพียงแค่ทฤษฎีอย่างคร่าวๆ ไปไหนก็มีแฟลชแบบหลอดเปลือยติดตัวไปด้วยเพื่อใช้เป็น fill light สำหรับการถ่ายภาพกลางแจ้งเท่านั้น ไม่เคยคิดจะใช้ flash เป็นแสงหลักเพราะคิดไปว่าทำอย่างไรก็ไม่เป็นธรรมชาติเท่าแสงแดดแน่ๆ


แสงสำหรับงานถ่ายภาพเด็กของผม ผมพยายามใช้แสงที่เป็นธรรมชาติ ออกแนวสว่างสดใส แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามใช้แสงในการช่วยขับความกลมกลึงและความใสของผิวเด็กๆ ออกมาด้วย เพราะผมเห็นว่าเป็นจุดเด่นที่นำเสนอความน่ารักของเด็กๆ ในขณะเดียวกันผมจะใช้แฟลชกำลังต่ำที่สุดที่สามารถทำได้ในแต่ละ setup เพื่อไม่ให้เกิดแสงจ้ารบกวนลูกค้าผู้น่ารักของผม และ setup ทั้งหมดนั่นก็ต้องไม่เข้ามาขัดขวางการทำงานหรือสัมพันธภาพอันดีระหว่างผมกับลูกค้าด้วย


ที่จริงแล้วการถ่ายภาพโดยใช้แฟลชให้เหมือนแสงธรรมชาติไม่ใช่เรื่องยาก แสงที่ได้จากแฟลชก็เหมือนกับแสงที่เราเห็นจากหลอดไฟ มันอาจจะคล้ายแสงของหลอดใสแบบกลมกว่าหลอดอย่างอื่น เทคนิคอะไรก็ตามที่นักออกแบบภายในหรือผู้ออกแบบโคมไฟใช้ เพื่อเปลี่ยนให้แสงจ้าๆ จากหลอดไฟนั้นกลายเป็นแสงที่นุ่มนวลสบายตา ก็สามารถนำมาใช้กับแสงแฟลชได้เช่นเดียวกัน

เวลาที่เราจัดแสงเพื่อถ่ายภาพ ให้พยายามจินตนาการว่าแฟลชของเราคือหลอดไฟธรรมดาดวงหนึ่ง อย่าไปนึกว่ามันแปลกประหลาดพิศดารเพียงเพราะว่ามันสว่างแค่คราวละวาบเดียว เริ่มจากดวงเดียวก่อนหากยังไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการก็ค่อยคิดว่าจะเพิ่มอีกดวงดีไหม ตรงไหน และจะปรับสภาพแสงของมันอย่างไร (ทิศทาง ความสว่าง ความคม สี ขนาด) ความแตกต่างที่หลักๆ คงเป็นแค่การควบคุมความสว่างของแสงแฟลชที่จะปรากฏในภาพถ่ายที่แตกต่างจากการควบคุมแสงแบบที่สว่างต่อเนื่อง เราควบคุมแสงแฟลชในภาพถ่ายได้โดยใช้หน้ากล้องเป็นหลัก ความเร็วของชัตเตอร์แทบจะไม่มีผลต่อการควบคุมปริมาณของแสงแฟลชบนภาพเลย

หลายท่านอาจแย้งว่า ดนพคงจะเพี้ยน ถ้าแฟลชดวงเดียวยังทำให้แสงในภาพผิดธรรมชาติแล้วเพิ่มเข้าไปอีกหลายๆ ดวงมันไม่ยิ่งเละหรือ ไม่เละหรอกครับ ยิ่งเพิ่มยิ่งดี แต่เราต้องรู้ว่าเราเพิ่มเข้าไปเพื่ออะไร


แสงที่เราเห็นในสถานการณ์ปกติมักเกิดจากแหล่งกำเนิดหลักเพียงแหล่งเดียว เช่น แสงในห้องของเราเวลากลางวัน อาจเกิดจากแสงแดดที่ส่องผ่านหน้าต่างเข้ามาเพียงอย่างเดียวนั่นคือมีดวงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดแสง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นและเป็นสิ่งที่จะทำให้แสงในห้องดูเป็นแสงธรรมชาติ คือการที่วัตถุต่างๆ ในห้องตอบสนองต่อแสงแดดนั้น การสะท้อนของแสงจากวัตถุชิ้นหนึ่งไปยังชิ้นอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง สีของของชิ้นหนึ่งที่สะท้อนไปบนของอีกชิ้นหนึ่ง ความสว่างของแสงสะท้อนที่ต่างกันระหว่างพื้นผิวของวัตถุต่างชนิดกัน เงา ความฟุ้งหรือความเข้มของเงา รูปร่างของมัน ฯลฯ เหล่านี้ทั้งหมดรวมกันทำให้เกิดแสงที่เรารู้สึกว่าเป็นธรรมชาติ เกิดน้ำหนักของภาพที่เหมาะสม


หากเราสามารถเลียนแบบลักษณะคร่าวๆ ของสภาพแสงในห้องนี้ได้โดยใช้แฟลชหลายๆ ดวงแทนแหล่งกำเนิดแสงย่อยๆเหล่านั้น เราก็จะสามารถสร้างความรู้สึกของแสงธรรมชาติได้เช่นกันในช่วงเวลาไหนก็ได้แม้แต่ในเวลากลางคืนที่ไม่มีแสงแดด แฟลชดวงหนึ่งแทนแสงแดดจากนอกหน้าต่าง อีกดวงแทนแสงสีน้ำตาลแดงที่สะท้อนจากพื้นไม้ อีกดวงแทนแสงที่สะท้อนจากฝาผนังห้องอีกฝั่ง เป็นต้น


ลองนึกกึงภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่คุณชอบสักเรื่อง ภาพที่เราเห็นบนจออาจดูเหมือนตัวละครกำลังอยู่ในห้องที่มีแสงแดดยามเช้าอบอุ่นส่องเข้ามา แต่ที่จริงแล้วทุกอย่างเป็นเพียงสมมติ ตอนที่เขาถ่ายเขาก็ถ่ายในโรงถ่าย แสงที่เห็นเหมือนแสงแดดสะท้อนอยู่ในห้องและแสงสวยๆ ที่ตกบนหน้านางเอกก็ไม่ใช่แสงแดด แต่เป็นไฟไม่รู้กี่สิบดวงที่ห้อยอยู่บนราวเพดานในโรงถ่าย ถ้าไฟในโรงถ่ายหลอกคุณว่านางเอกสุดสวยกำลังนั่งอยู่ในห้องตอนเช้าได้ แฟลชของคุณหากวางให้ถูกตำแหน่งพร้อมอุปกรณ์ปรับแต่งแสงที่เหมาะสมก็ย่อมจะสามารถสร้างความรู้สึกอย่างเดียวกันได้


ไม่แตกต่างกันครับ แสงไฟ tungsten หรือ HMI ในโรงถ่ายที่ส่องสว่างอยู่ตลอดเทค หรือแฟลชของคุณที่สว่างคราวละ 1/2000 วินาที เพราะอย่างนี้อย่าไปกลัวแฟลชครับ ลองหัดสังเกตแสงรอบๆ ตัวเรา ชอบอย่างไหนก็ลองพิจารณาดูว่าสภาพแสงแบบนั้นมันเกิดจากองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วมาลองจำลองสภาพแสงนั้นโดยใช้ แฟลชแทน ไม่ยากหรอกครับ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีกล้องดิจิตอล ถ่ายไป ปรับไฟไป ปรับหน้ากล้องไป ดูผลลัพธ์ที่ได้บนหน้าจอไป ฟิล์มก็ไม่ต้องล้าง เดี๋ยวเดียวก็แจ่มครับ